มาสำรวจหน้าตัวเองดูว่าคุณมีฝ้า หรือ กระ ประเภทไหนกันแน่ แล้วแต่ละชนิดรักษาอย่างไร ฝ้าแดด ฝ้าเลือด ฝ้าลึก กระลึก กระตื้น ฝ้าและกระมีกี่ประเภท ? ติดตามอ่านต่อจากนี้ได้เลยครับ
ฝ้า (Melasma)
คือภาวะที่มีความคล้ำขึ้นอย่างผิดปกติของสีผิว เกิดเนื่องจากเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานินทำงานมากเกินไป แบ่งง่ายๆ 4 แบบด้วยกัน คือ ฝ้าตื้น ฝ้าลึก ฝ้าผสมและฝ้าชนิดอื่น ๆ แยกกันตามตำแหน่งที่เกิดเม็ดสีมาสะสม การส่องด้วย Wood’s light ทำให้เห็นเม็ดสีที่อยู่ชั้นตื้นเกิดการเรืองแสงขึ้น
จุดแบ่งที่สำคัญคือชั้นผิวที่เรียกว่า basement membrane ถ้ามีเม็ดสีอยูที่ชั้นนี้เรียกฝ้าตื้น ใต้ต่อชั้นนี้เรียกฝ้าลึก มีทั้ง2ชั้น เรียกฝ้าผสม
ฝ้าลึก (dermal melasma)
เห็นเป็นสีน้ำตาลอมเทา ความผิดปกติอยู่ลึกกว่าชั้น basement membrane เกิดเนื่องจากชั้นนี้มีรูรั่วแล้วเม็ดสีลงไปฝังอยู่ในชั้นหนังแท้(dermis)และมีเม็ดสีจึงเปรียบเสมือนสิ่งแปลกปลอมจึงถูกเซลล์เม็ดเลือดขาวในผิวชั้นหนังแท้เก็บกิน (dermalmelanophages) เพื่อพยายามจะกำจัดออก ฝ้าลึกจึงเห็นเป็นสีน้ำตาลอมเทา
เมื่อส่องด้วย Wood’s light จะไม่เห็นการเรืองแสงขึ้น
รักษายากกว่าเนื่องจากมีเม็ดสีเมลานินตกค้างอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาวของชั้นหนังแท้ การเร่งการผลัดเซลล์ผิวอาจไม่ช่วยให้ฝ้าลึกจางลงได้มากนัก อีกทั้งการทำให้เม็ดสีแตกตัวจากการใช้เลเซอร์อาจเป็นอันตรายต่อเซลล์ชั้น basement membrane อาจทำให้เกิดรูรั่วเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มฝ้าลึกได้
ฝ้าตื้น (epidermal melasma)
เห็นเป็นสีน้ำตาล หรือ น้ำตาลเข้มขอบเขตชัดเจน ความผิดปกติของเม็ดสีอยู่ที่ชั้นผิวหนังกำพร้า ส่องด้วย Wood’s light จะเกิดการเรืองแสงขึ้น การรักษาง่ายกว่าฝ้าชนิดอื่น ส่วนใหญ่เป็นมาไม่นาน และเม็ดสีเมลานิน อยู่ในผิวชั้นตื้น เมื่อเกิดการผลัดเซลล์ผิวสามารถถูกกำจัดออกได้โดยง่าย
ฝ้าผสม (Mixed-type melasma)
มีความผิดปกติอยู่ทั้ง 2 ชั้นความเข้มของสีมีหลายแบบทั้งสีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเข้ม ไปจนถึงสีน้ำตาลอมเทา อาจเห็นขอบเขตของสีชัดหรือไม่ชัดก็ได้ ส่องด้วย Wood’s light จะเกิดการเรืองแสงขึ้นบางส่วนที่เป็นฝ้าตื้นเท่านั้น การรรักษาจึงทำได้ง่ายกว่าฝ้าลึก เนื่องจากสามารถรักษาฝ้าตื้นที่รวมอยู่ให้จากลงได้ แม้ยังมีเม็ดสีเมลานินอยู่ในฝ้าชั้นลึก แต่เมื่อเม็ดสีเมลานินที่อยู่ชั้นตื้นจางลงรอยโรคก็จะดีขึ้นด้วย
ฝ้าชนิดอื่นๆ / ฝ้าที่แยกชนิดไม่ได้
(Indeterminate melasma)
มีชื่อเรียกจากสาเหตุการเกิด ได้แก่ ฝ้าแดด ฝ้าฮอร์โมน ฝ้าเลือด ลักษณะจะเป็นไปตามสาเหตุการเกิดฝ้า เช่น แสงแดด แสงUV หรือทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนก็จะทำให้เกิดฝ้าได้เช่นกัน ส่วนฝ้าเส้นเลือดเกิดจากผิวหนังมีการสร้างสาร VEGF (Vascular Endothelial Growth Factor) มากขึ้น ทำให้กระตุ้นหลอดเลือดให้ขยายตัวและเพิ่มกระบวนการอักเสบเกิดเป็นเส้นเลือดฝอยบนใบหน้าตามมา และยังเป็นสาเหตุของการเกิดฝ้าใหม่อีกด้วย หรืออาจเกิดจากการใช้ยา/ครีมที่มีส่วนผสมของสารลดเม็ดสีที่รุนแรงบางตัวเช่น สารปรอท สารสเตียรอยด์ที่ทำให้ผิวหนังบางลงจึงมองเห็นเส้นเลือดฝอยมากขึ้นกว่าปกติได้
การรักษาฝ้าทำได้หลายวิธี ทั้งการใช้ยาทารักษา การหลบเลี่ยงแสงแดด ใช้อุปกรณ์กันแดด ครีมกันแดด การลอกผิวด้วยกรดผลไม้ การกรอผิวหน้า การใช้เลเซอร์ต่าง ๆ รักษา หรือการฉีดสลายเม็ดสีซึ่งเป็นการฉีดยาเข้าผิวหนังที่เป็นฝ้าโดยตรง แต่การรักษาที่ดีที่สุดนั้นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยต้องรักษาแบบองค์รวมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
กระ (freckles)
คือจุดสีน้ำตาลที่เกิดขึ้นผิดปกติบนผิวหนัง เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีเมลานินบริเวณนั้น ๆ สามารถเกิดได้ทั้งใบหน้า คอ และลำตัว สาเหตุเกิดได้จาก ฮอร์โมนเพศ พันธุกรรมและแสงแดด กระมีหลายประเภทและมีลักษณะแตกต่างกันไป
กระตื้น (Frackles)
เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนผิวขาว ผิวจีน สาเหตุเกิดจากแสงแดดและกรรมพันธุ์มีลักษณะเป็นจุด ๆ สีน้ำตาลอ่อน ถึงเข้ม ขอบเขตชัด อยู่บนผิวหนังชั้นตื้น ขนาดประมาณ2-4 มม.ตำแหน่งที่พบมากคือผิวหนังส่วนที่สัมผัสแสงแดดบ่อย ๆ เช่น โหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง สันจมูก
วิธีการรักษา
การหลบแดดและการทายาประเภท whitening เช่น Hydroquinone, kojic, arbutin หรือ กรดผลไม้ช่วยให้รอยจางลงได้แต่ไม่หายไป การทำเลเซอร์เป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดที่สามารถทำให้กระแดดหายไปได้ตั้งแต่ครั้งแรก
กระลึก (Nevus of Hori)
มีลักษณะคล้ายฝ้าจะเกิดบริเวณโหนกแก้มหรือขึ้นไปถึงขมับ แต่จะเป็นจุดสีน้ำตาลอมเทา ขอบเขตไม่ชัดเจน อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นจากกรรมพันธุ์ ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย จะเข้มขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ประมาณอายุ30ปี จะเริ่มเห็นเด่นชัด
วิธีการรักษา
วิธีทายาหรือลอกผิวไม่สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแค่ทำให้รอยโรคจางลง วิธีที่เห็นผลดีที่สุดคือการเลเซอร์แบบชนิดที่ตกสะเก็ดแต่จะเกิดรอยเข้มข้นหลังการรักษาได้ ต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษ และต้องทำประมาณ 4-5 ครั้งห่างกันครั้งละ 2-3 เดือน แต่ข้อดีคือกระชนิดนี้สามารถหายขาดได้และไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
กระแดด (Solar lentigo)
มีลักษณะเป็นปื้นราบ สีน้ำตาลคล้ายหมึกหยดลงบนผิวหนัง ไม่นูน และขอบเขตชัด มักพบในคนอายุมาก และค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุเกิดจากเคยมีกิจกรรมกลางแจ้ง โดนแดดจัดมาเป็นเวลายาวนาน
วิธีการรักษา
การทายาหรือการหลีกเลี่ยงแสงแดดไม่ช่วยให้จางลงและยิ่งเข้มมากขึ้นและมีจำนวนมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นแต่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยเลเซอร์แบบตกสะเก็ดเพียง 1-2ครั้ง
กระเนื้อ (Seborrheic keratosis)
กระเนื้อสามารถพบได้หลายตำแหน่งของร่างกายโดยเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดด บริเวณที่พบได้บ่อยคือใบหน้า ลำคอ แขน ขา หน้าอกบน เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น และเกิดขึ้นตอนตั้งครรภ์ได้ เริ่มแรกจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีน้ำตาล ต่อมาจะมีสีเข้มขึ้นและขยายขนาดและนูนขึ้น มีตั้งแต่ขนาดเล็ก ๆ จนกระทั่งถึงขนาดใหญ่ถึง 1 ซม. และพื้นผิวจะไม่เรียบและมีลาย ยิ่งมีอายุมากขึ้นจำนวนยิ่งเพิ่มขึ้นไปด้วย
การรักษา
สามารถใช้การจี้ด้วยกรดทำให้กระเนื้อขนาดเล็กหลุดออกได้แต่ข้อเสียคือไม่สามารถกำจัดกระเนื้อขนาดใหญ่ได้ และไม่สามารถควบคุมความลึกของการจี้ด้วยกรดได้ การทำเลเซอร์สามารถจี้ออกได้เพียงครั้งเดียว จะมีเพียงแผลตื้นๆและหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่จะเกิดขึ้นซ้ำได้อีกที่บริเวณเดิมหรือบริเวณใหม่ก็ได้ขึ้นกับอายุที่เพิ่มขึ้น
บทความโดย นพ.ธีรทัศน์ สำเภาเงิน
แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพและแพทย์ประจำ WOW CLINIC