ฝ้าในผู้ชายพบได้มากน้อยแค่ไหน?
ฝ้าเป็นความผิดปกติของผิวหนังที่มีความคล้ำขึ้นพบมากในผู้หญิง แต่ก็พบได้ในผู้ชายเช่นกัน โดยมีการศึกษาในประเทศอินเดียพบรายงานความชุกในประชากรเพศชายอยู่ที่ร้อยละ 20.5-25.8 และพบความชุกร้อยละ 10-36 ในประชากรเชื้อสายละตินอเมริกา โดยการศึกษาฝ้าในประเทศไทยพบความชุกร้อยละ 25-33 โดยอัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายเท่ากับ 2-24 ต่อ 1
ทำไมจึงเกิดฝ้าในผู้ชาย?
การเกิดฝ้าในผู้ชายจะพบบ่อยในช่วงอายุ 30-40 ปี และมีกลไกการเกิดแตกต่างจากผู้หญิงซึ่งได้กล่าวถึงในบทความเรื่อง รอบรู้เรื่องฝ้า
สาเหตุของฝ้าในผู้ชายนั้นส่วนใหญ่เกิดจาก
- การสัมผัสรังสี Ultraviolet เป็นเวลานานมากกว่า เพราะผู้ชายมีแนวโน้มใช้ชีวิตกลางแจ้งมากกว่าผู้หญิง เช่น ทำงานกลางแจ้ง เล่นกีฬากลางแจ้ง ขับรถ
- ไม่ทาครีมกันแดด เนื่องจากผู้ชายจะมีผิวที่มันจึงไม่ชอบทาครีมกันแดดที่เหนียวเหนอะหนะ ประกอบกับค่านิยมสมัยก่อนที่ผู้ชายไม่ควรใช้เครื่องสำอาง ทำให้ผู้ชายรู้สึกเขินอายในการทาครีมกันแดดหรือการดูแลผิวหน้า จึงถูกรังสี Ultraviolet ทำร้ายสะสมมาเป็นเวลานาน เมื่ออายุมากขึ้น เกราะป้องกันผิวเสื่อมลง จึงเกิดฝ้าได้
- ยาที่รับประทานเพื่อรักษาโรคในเพศชาย เช่น ยากันชัก phenytoin, diethylstilbestrol เป็นยารักษามะเร็งต่อมลูกหมาก และ finasteride ที่ใช้รักษาโรคผมบางจากพันธุกรรม
- พันธุกรรม มีการศึกษาในประเทศอินเดียพบว่าประชากรเพศชายที่เป็นฝ้ามีประวัติครอบครัวเป็นฝ้าร้อยละ 39 หากมีพันธุกรรมพ่อหรือแม่เป็นฝ้า ผู้ชายคนนั้นก็มีโอกาสเป็นฝ้าสูงขึ้น
- ฮอร์โมน พบว่าผู้ชายที่มีฝ้าจะมีระดับฮอร์โมน testosterone ลดต่ำลง และมีระดับฮอร์โมน FSH,LH เพิ่มสูงกว่าปกติอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าอาจมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมน testosterone
- โรคประจำตัว เช่น โรคความผิดปกติของต่อม thyroid และโรค inflammatory bowel disease
ฝ้าในผู้ชายจะเกิดบริเวณใด?
ฝ้าในผู้ชายจะสัมพันธ์กับบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดจะพบฝ้าได้บ่อยใน 3 บริเวณ
- ส่วนกลางของใบหน้า เช่น บริเวณหน้าผาก แก้ม จมูก เหนือปากและคาง
- บริเวณโหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง
- ขอบแนวกราม ซึ่งไม่ค่อยพบในผู้หญิง
และผู้ชายที่สัมผัสแสงแดดมาเป็นเวลายาวนานจะพบฝ้าบริเวณหลังคอ แขนขาและ ลำตัวได้อีกด้วย
การรักษาฝ้าในผู้ชายยากกว่าผู้หญิงหรือไม่?
ในผู้ชายสามารถพบ ฝ้าลึก ฝ้าตื้นและฝ้าผสม ได้เช่นเดียวกับผู้หญิง แต่ในผู้ชายอาจรักษาได้ง่ายกว่าผู้หญิงในบางกรณี เนื่องจากในผู้ชายไม่ค่อยมีผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนมาเกี่ยวข้องเหมือนผู้หญิง ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับการโดนแสงแดดมาเป็นเวลานาน การรักษาในผู้ชายเน้นการใช้ยาทาและการทากันแดดเป็นหลัก ยาที่ใช้รักษาไม่ควรมียาหลายชนิด และผู้ชายไม่ชอบยาหรือสารกันแดดที่มีสัมผัสเหนียวเหนอะหนะ ส่วนการรักษาฝ้าโดยวิธีทำเลเซอร์หรือหัตถการอื่น ๆเป็นเพียงการรักษาเสริมที่ทำให้ได้ผลการรักษาไวขึ้น แต่ก็มีงานวิจัยว่าผู้ชายชอบการรักษาที่รวดเร็วทันใจ แม้ว่าการรักษานั้นอาจทำให้ต้องพักฟื้นนานขึ้นก็ตาม
- ผู้ชายร้อยละ 80 เลือกทำเลเซอร์เพื่อรักษาฝ้า มีรายงานของโรงพยาบาลรามาธิบดีว่า ทำให้จางลงร้อยละ 50.3 แต่พบว่าเมื่อติดตามไปในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 รอยโรคกลับมาเข้มขึ้นอีก และพบรอยด่างขาว guttate hypopigmentation 1 ราย ส่วนการศึกษาอื่น ๆพบว่า Q-switched laser ทำให้ฝ้าจางลงได้เพียงชั่วคราว และควรเว้นระยะห่างในการยิงเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียง ผู้ชายร้อยละ 80 เลือกทำเลเซอร์
- การทำ chemical peeling เสริมการรักษาฝ้าในผู้ชายสามารถทำได้ แต่ที่เหมาะสมควรเป็นแบบอ่อนโยนไม่ใช่แบบที่ลงลึกเพราะอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิวได้เพราะผู้ชายอาจสัมผัสกับแดดเป็นประจำ
ท้ายที่สุดนี้ปัญหาฝ้าเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างความไม่มั่นใจให้กับคนที่เป็น ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จึงควรได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ ไม่ให้ฝ้าที่เป็นอยู่นั้นลุกลาม แม้ฝ้าจะไม่ได้เป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้เสียสุขภาพจิตได้มากทีเดียว คนไข้ที่มารักษากับ Dr.WOW หลายคนรักษาฝ้ามานานและรักษามาหลายวิธี บางคนเป็นฝ้าเรื้อรัง ไม่ว่าจะรักษาวิธีใดก็ไม่ดีขึ้น ซ้ำร้ายอาจเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาเป็นฝ้าเพิ่มขึ้น เป็นรอยไหม้หรือเป็นรอยด่าง ทำให้จิตตกมากกว่าเดิม แม้นการรักษาฝ้าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดฝ้า วิเคราะห์ แยกแยะปัญหา และหาแนวทางการรักษาร่วมกันทั้งหมอและคนไข้ อธิบายวิธีการดูแลตัวเองและแจ้งความคาดหวังอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้การรักษานั้นประสบความสำเร็จได้ สร้างความพึงพอใจทั้งผู้มารับการรักษาให้มีรอยยิ้มกลับไป
บทความโดย นพ.ธีรทัศน์ สำเภาเงิน
แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพและแพทย์ประจำ WOW CLINIC