ใครๆ ก็อยากมีผิวหน้าขาวกระจ่างใส ไร้ฝ้า ไร้กระ จุดด่างดำ การทาครีมเป็นวิธีแรกที่หลายๆคนนึกถึงเพราะทำได้ง่ายและทำได้เองทุกวัน การทา Whitening นอกจากจะทำให้ผิวหน้ากระจ่างใส ป้องกันและชะลอการเกิดฝ้า กระ แล้วยังเป็นการเสริมเกราะคุ้มกันบำรุงผิวหน้า ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการรักษาฝ้า ทำให้ผิวหน้าแข็งแรงและป้องกันไม่ให้ฝ้ากลับมาเป็นซ้ำ แต่ครีม Whitening ในท้องตลาดมีมากมาย จะเลือกอย่างไรให้เหมาะกับสภาพผิว หรือ เหมาะกับปัญหาฝ้า กระ ที่เป็นอยู่
Dr.WOW จะพามารู้จักกับ Whitening ชนิดต่าง ๆในบทความนี้กันครับ
กลุ่มที่เป็นยา
Hydroquinone เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาฝ้า
กลไกการออกฤทธิ์ ทำหน้าที่ยับยั้งการสร้างเอ็นไซน์ Tyrosinase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างเม็ดสีเมลานิน ลดการสร้างถุงเก็บเม็ดสี(melanosome)และเพิ่มการทำลายถุงเก็บกักเม็ดสีที่จะส่งออกไปบนผิวชั้นบน
Hydroquinone เป็นสารWhitening ที่ดีที่สุดและก็รุนแรงมากเช่นกัน ใช้เป็นตัวเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาหรือสารลดเม็ดสีตัวอื่นๆ ไม่อนุญาตให้มาผลิตเป็นเครื่องสำอางได้ ต้องให้แพทย์สั่งจ่ายเพื่อการรักษาเท่านั้น
จากการศึกษาวิจัยของ Ennes และคณะ ปี2000 การทา 4% Hydroquinone ร่วมกับสารกันแดด พบว่าช่วยให้ฝ้าหายสนิทได้ร้อยละ 38.1ของอาสาสมัคร เมื่อเทียบกับยาหลอก แต่หลาย ๆ งานวิจัยก็พบว่า Hydroquinone มีฤทธิ์ระคายเคืองผิว ทำให้เกิดผิวแดง ได้มากกว่ายาชนิดอื่น ๆ
Corticosteroid สเตียรอยด์
กลไกการออกฤทธิ์คือ ยับยั้งการอักเสบ กดภูมิของร่างกาย ยับยั้งการสร้าง DNA&Protein ของเซลล์ และทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ลดออกฤทธิ์โดยลดการสังเคราะห์และการสร้างการเม็ดสีของเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานิน (melanocyte) คือตัดกระบวนการอักเสบของร่างกายที่เป็นต้นกำเนิดของฝ้าและตัดวงจรการผลิตเม็ดสี
มีผลการศึกษาวิจัยว่า การทา สารสเตียรอยด์ 0.05% clobetasol propinoate cream พบว่าให้ฝ้าจางลงอย่างมากร้อยละ 80-90 ใน6-8 สัปดาห์แต่มีผลข้างเคียง มาก ผิวบางลง เส้นเลือดขยายตัว ที่สำคัญ กลับมาเป็นซ้ำหลังหยุดยา 2-3 สัปดาห์ “สรุปได้ว่าไม่ควรใช้สเตียรอยด์ในการรักษาฝ้า” เพราะจะได้ผลเพียงชั่วคราวและไม่คุ้มกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น แต่ถ้านำมาใช้ร่วมกับยาอื่นจะช่วยลดการระคายเคืองของยาอื่นได้
Ratinoid วิตามินเอและอนุพันธ์ของวิตามินเอ
ออกฤทธิ์โดยลดการสร้างยีนที่ผลิตเอนไซม์ Tyrosinase ลดการกระจายตัวของเม็ดสีเมลานิน เพิ่มการผลัดตัวของเซลล์ผิวชั้นบนที่เรียกว่าชั้นขี้ไคล (keratinocyte) ทำให้ผิวหนังชั้นบนหลุดลอกได้ดียิ่งขึ้น ช่วยทำให้ยาลดรอยดำตัวอื่นซึมเข้าผิวได้ดีขึ้นได้
มีการศึกษาวิจัยพบว่า 0.1% tretinoin cream สามารถลดฝ้าได้ในเวลา 24 สัปดาห์มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับ vehicle cream และมีผลข้างเคียงทำให้ผิวแดงและลอกได้
Azelaic acid
พบได้ในข้าวสาลี(wheat) ข้าวไรย์(rye)หรือข้าวบาร์เลย์(barley) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ปรับสมดุลเส้นใย keratin ที่ผิวหนังกำพร้ารวมทั้งต้านจุลชีพก่อสิว ออกฤทธิ์ยับยั้ง melanin โดยแย่งจับกับ Tyrosinase enzyme
มีงานศึกษาวิจัยผลของ 20% Azelaic acid cream เทียบกับ 4% Hydroquinone แล้วว่าได้ผลทำให้ฝ้าของอาสาสมัครจางลงดีมากเช่นกันแต่จะมีผลข้างเคียงคือแสบระคายเคืองผิวได้บ้าง แต่ก็น้อยกว่าผลข้างเคียงจากสาร Hydroquinone
Azelaic acid เป็นสาร Whitening ตัวเดียวที่อนุญาตให้ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์
กลุ่มที่เป็นเวชสำอาง
Arbutin
Alpha-arbutin เป็นสารสกัดจากใบไม้แห้งของ bearberry พืชที่อยู่ในแถบอเมริกาเหนือ เป็นอนุพันธ์ของสาร hydroquinone แต่มีฤทธิ์อ่อนโยนกว่ามาก ไม่ทำร้ายผิว ทำให้นิยมนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ Whitening อย่างแพร่หลาย
ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase และ DOPA ที่กระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินโดยไม่ส่งผลต่อการดำรงชีพของเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานินโดยความเข้มข้นของ Arbutin ที่สูงขึ้นยิ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสี melanin นอกจากนั้น Arbutin ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และต่อต้านเชื้อโรคได้อีกด้วย
มีงานวิจัยของไทยโดย ศ.คลินิก นพ.นิวัติ พลนิกร ปี 2010 ทำการศึกษาโดยไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบในอาสาสมัครเพศหญิง ที่เป็นฝ้าลึกและฝ้าผสม จำนวน 35 ราย รักษาด้วย Q-switched Nd:YAG ร่วมกับให้ทา 7% Alpha-arbutin วันละ 2 ครั้งและทากันแดดในตอนเช้า พบว่าร้อยละ 30 ของผู้เข้าร่วมวิจัยรอยฝ้าจางลงดีมาก ร้อยละ30 และจางลงดีร้อยละ36.7
ปี 2015 Morag และคณะ ศึกษาการทา 2.5% Beta-arbutin เทียบกับยาหลอก ปรากฎว่า ร้อยละ 75.9 ของผู้เข้าร่วมวิจัยมีฝ้าจางลง โดยเริ่มเห็นผลในระยะเวลา 4 สัปดาห์ และไม่พบผลข้างเคียงจากการทายา
Tranexamic acid
เป็นสารสังเคราะห์จากกรดอะมิโน lysine ออกฤทธิ์โดยแย่งจับกับเอ็นไซม์ Tyrosinase และอีกกลไกโดยการแย่งจับกับสาร plasminogen ยับยั้งการเกิดสาร plasmin ซึ่งจะเปลี่ยนไปเป็นกระบวนการสร้างเซลล์อักเสบต่าง ๆ ที่มีผลให้เกิดการกระตุ้นการสร้างเมลานินและการเกิดเส้นเลือดใหม่
มีงานศึกษาวิจัยพบว่าการทา Tranexamic acid เทียบกับ Hydroquinone พบว่าผู้เข้าร่วมวิจัยมีฝ้าที่จางลงไม่แตกต่างอย่างกันมีนัยยะสำคัญทางสถิติ และพบว่าในกลุ่มที่ทา Tranexamic acid มีความพึงพอใจในการใช้มากกกว่ากลุ่มที่ทา Hydroquinone เนื่องจากมีแสบระคายเคืองน้อยกว่า
Vitamin C
ยับยั้งเม็ดสีผ่านการทำปฏิกริยากับ copper และยับยั้ง Tyrosinase enzyme
ผลงานวิจัยของวิตามินซีเมื่อใช้ 5% Ascorbic acid เทียบกับ Hydroquinone พบว่าใบหน้าข้างที่ทาHydroquinone สามารถทำให้ฝ้าจางกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ แต่ Hydroquinone มีผลทำให้แสบและระคายเคืองกว่า มีการศึกษาว่า การใช้อนุพันธ์ของวิตามินซี คือ magnesium ascorbyl phosphate ใช้ในรูปแบบ aspasome เพื่อทำให้ดูดซึมเข้าผิวหนังได้ดีขึ้น พบว่า35% อาสาสมัครมีฝ้าที่จางลง
Vitamin C ในรูปแบบ L- Ascorbic acid เท่านั้นที่มีงานวิจัยในคนว่ามีคุณสมบัติพิเศษ คือ
1 . Antioxidant ช่วยต้านอนุมูลอิสระลดริ้วรอย ต้านผิวแก่จากแสงแดด (photoaging) ต้านผิวแก่จากมลภาวะ
2. ลดการสร้างเม็ดสี
3. กระตุ้นการสร้างคอลาเจน
แต่ L- Ascorbic acid เป็น active form ที่ไม่คงตัว Dr.WOW จะนำวิธีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ Vitamin C กันในบทความต่อไปอีกทีนะครับ
Kojic acid
เป็นสารที่ได้จากกระบวนการหมักข้าวมอลต์ ออกฤทธิ์โดยยับยั้ง Tyrosinase enzyme และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาเปรียบเทียบการทา 0.75% Kojic acid +2.5% vitamin C เทียบกับการทา 4% Hydroquinione พบว่ากลุ่มที่ทา Hydroquinone มีการจางลงของฝ้ามากกว่า แต่ก็มีการแดงของผิวหน้ามากกว่าด้วย และในการศึกษาผลการทาร่วมกันของ 1% Kojic acid ร่วมกับ 2% Hydroquinone พบว่ามีผลทำให้ฝ้าจางลงดีขึ้นกว่าทา Hydroquinone เดี่ยว ๆ
นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์เป็น antioxidant, antibacterial, antifngal, antiviral, anti-inflammation จึงนิยมนำมาผสมในเครื่องสำอางหลายชนิด ที่ช่วยบำรุงผิว ลดการอักเสบและลดการเกิดสิวได้
Licorice extract
สารสกัดจากรากชะเอม (Glycyrrhia glabra) มีสาร glabridin ออกฤทธิ์ยับยั้ง Tyrosinase enzyme และสาร liquiritin ทำให้เม็ดสี melanin กระจายตัวออกๆไม่จับเป็นกลุ่มก้อนทำให้สีผิวบริเวฌรอยโรคจางลง
มีการศึกษาวิจัยของ Zubair และคณะ พบว่า 4% liquiritin ส่งผลให้ฝ้าจางลงมากกว่า 4% Hydroquinone
Soybean extract
สารสกัดจากถั่วเหลือง หรือ Glycine max ออกฤทธิ์ยับยั้งเม็ดสี melanin โดยยับยั้ง PAR-2 ส่งผลรบกวนการขนส่งของถุงเก็บเม็ดสี (melanosome) จากเซลล์สร้างเม็ดสี (melaonocyte) ไปเซลล์ชั้นบนและยับยั้งกระบวนการ DOPA oxidase ทำให้เม็ดสี melanin ลดลง มีการศึกษาในสัตว์ทดลองเรื่องการทาถั่วเหลืองในรูปแบบทาบริเวณผิวหนังช่วยลดการสะสมของเม็ดสีได้ และมีการศึกษาเอาสารสกัดจากถั่วเหลืองมาใช้ในมนุษย์ เช่น รักษาภาวะความเสื่อมจากแสงแดด (photoaging) กระแดด (solar lentigo) รอยคล้ำที่ใบหน้า (facial hyperpigmentation)
Niacinamide
เป็นสารออกฤทธิ์ของวิตามินบี 3 พบได้ในยีสและรากผักออกฤทธิ์ลดเม็ดสี โดยยับยั้ง PAR-2 ส่งผลรบกวนการขนส่งของถุงเก็บเม็ดสี (melanosome) จากเซลล์สร้างเม็ดสี (melaonocyte) ไปเซลล์ชั้นบน
มีการศึกษาในคนที่เป็นฝ้าโดย Navarrete -Solis และคณะ ในปี 2011 อาสาสมัคร 27คน ทา 4% Niacinamide ครึ่งใบหน้าเทียบกับ 4% Hydroquinone ในใบหน้าอีกครึ่งหนึ่งพบว่า มีการลดลงของฝ้าไม่ต่างกันของสารทั้งสองชนิด แต่ Niacinamide พบผลข้างเคียงเช่น แสบ แดง ระคายเคืองน้อยกว่า Hydroquinone
Green tea(Camelia sinensis)
พบว่าสารในชาเขียวยับยั้ง Tyrosinase enzyme ได้ดีโดยเรียงลำดับความแรงในการออกฤทธิ์ได้ดังนี้ ECG> EGCG> GCG และสารกลุ่มชาเขียวยับยั้งการสร้าง melaninได้ดีกว่า arbutin
Isobutylamido thiazolyl resorcinol (ITR)หรือ Thiamidol
เป็นสารอนุพันธ์ของ resorcicol สาร ITR ลดเม็ดสีเมลานินโดยยับยั้ง Tyrosinase enzyme
ในปี2018 Mann และคณะ พบว่า ITR ที่ความเข้มข้น 1 umol/L มีฤทธิ์ลดการสร้างเม็ดสี melaninได้ร้อยละ40 ใน 2 สัปดาห์ มากกว่า Hydroquinoneที่ได้ร้อยละ 15 ใน 2 สัปดาห์ และมีการศึกษาอื่นพบว่าช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของฝ้าได้ดีกว่า Hydroquinone
สารต่างๆที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมีงานวิจัยรองรับว่าเป็นสาร Whitening ที่ช่วยในการรักษาฝ้าได้ดีหากมองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการรักษาฝ้ากระรอยหมองคล้ำจึงควรอ่านดูที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ด้วยว่ามีส่วนผสมของสารเหล่านี้หรือไม่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้มากขึ้นและไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาไปกับสารอื่นๆที่กล่าวอ้างว่ารักษาฝ้าได้แต่ยังไม่มีงานวิจัยรับรองชัดเจนนอกจากนั้นการทาครีมกันแดดเป็นประจำยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่เนื่องจากครีมกันแดดเป็นเกราะคุ้มกันผิวที่ดีที่สุดแม้ไม่ได้ทาสารกลุ่ม Whitening แต่ทาครีมกันแดดเป็นประจำก็สามารถช่วยแก้ปัญหาผิวหน้าได้หลายประการ ไม่เพียงแต่ช่วยเรื่อง ฝ้า กระ และรอยหมองคล้ำแล้วยังช่วยลดการเกิดสิวและริ้วรอยก่อนวัยได้อีกด้วย
บทความโดย นพ.ธีรทัศน์ สำเภาเงิน
แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพและแพทย์ประจำ WOW CLINIC