
ใครๆ ก็อยากมีผิวหน้าขาวกระจ่างใส ไร้ฝ้า ไร้กระ จุดด่างดำ การทาครีมเป็นวิธีแรกที่หลายๆคนนึกถึงเพราะทำได้ง่ายและทำได้เองทุกวัน การทา Whitening นอกจากจะทำให้ผิวหน้ากระจ่างใส ป้องกันและชะลอการเกิดฝ้า กระ แล้วยังเป็นการเสริมเกราะคุ้มกันบำรุงผิวหน้า ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการรักษาฝ้า ทำให้ผิวหน้าแข็งแรงและป้องกันไม่ให้ฝ้ากลับมาเป็นซ้ำ แต่ครีม Whitening ในท้องตลาดมีมากมาย จะเลือกอย่างไรให้เหมาะกับสภาพผิว หรือ เหมาะกับปัญหาฝ้า กระ ที่เป็นอยู่
Dr.WOW จะพามารู้จักกับ Whitening ชนิดต่าง ๆในบทความนี้กันครับ
เนื้อหา
ซ่อน
กลุ่มที่เป็นยา
Hydroquinone เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาฝ้า
กลไกการออกฤทธิ์ ทำหน้าที่ยับยั้งการสร้างเอ็นไซน์ Tyrosinase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างเม็ดสีเมลานิน ลดการสร้างถุงเก็บเม็ดสี(melanosome)และเพิ่มการทำลายถุงเก็บกักเม็ดสีที่จะส่งออกไปบนผิวชั้นบน
Hydroquinone เป็นสารWhitening ที่ดีที่สุดและก็รุนแรงมากเช่นกัน ใช้เป็นตัวเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาหรือสารลดเม็ดสีตัวอื่นๆ ไม่อนุญาตให้มาผลิตเป็นเครื่องสำอางได้ ต้องให้แพทย์สั่งจ่ายเพื่อการรักษาเท่านั้น
จากการศึกษาวิจัยของ Ennes และคณะ ปี2000 การทา 4% Hydroquinone ร่วมกับสารกันแดด พบว่าช่วยให้ฝ้าหายสนิทได้ร้อยละ 38.1ของอาสาสมัคร เมื่อเทียบกับยาหลอก แต่หลาย ๆ งานวิจัยก็พบว่า Hydroquinone มีฤทธิ์ระคายเคืองผิว ทำให้เกิดผิวแดง ได้มากกว่ายาชนิดอื่น ๆ
Corticosteroid สเตียรอยด์
กลไกการออกฤทธิ์คือ ยับยั้งการอักเสบ กดภูมิของร่างกาย ยับยั้งการสร้าง DNA&Protein ของเซลล์ และทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ลดออกฤทธิ์โดยลดการสังเคราะห์และการสร้างการเม็ดสีของเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานิน (melanocyte) คือตัดกระบวนการอักเสบของร่างกายที่เป็นต้นกำเนิดของฝ้าและตัดวงจรการผลิตเม็ดสี
มีผลการศึกษาวิจัยว่า การทา สารสเตียรอยด์ 0.05% clobetasol propinoate cream พบว่าให้ฝ้าจางลงอย่างมากร้อยละ 80-90 ใน6-8 สัปดาห์แต่มีผลข้างเคียง มาก ผิวบางลง เส้นเลือดขยายตัว ที่สำคัญ กลับมาเป็นซ้ำหลังหยุดยา 2-3 สัปดาห์ “สรุปได้ว่าไม่ควรใช้สเตียรอยด์ในการรักษาฝ้า” เพราะจะได้ผลเพียงชั่วคราวและไม่คุ้มกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น แต่ถ้านำมาใช้ร่วมกับยาอื่นจะช่วยลดการระคายเคืองของยาอื่นได้
Ratinoid วิตามินเอและอนุพันธ์ของวิตามินเอ
ออกฤทธิ์โดยลดการสร้างยีนที่ผลิตเอนไซม์ Tyrosinase ลดการกระจายตัวของเม็ดสีเมลานิน เพิ่มการผลัดตัวของเซลล์ผิวชั้นบนที่เรียกว่าชั้นขี้ไคล (keratinocyte) ทำให้ผิวหนังชั้นบนหลุดลอกได้ดียิ่งขึ้น ช่วยทำให้ยาลดรอยดำตัวอื่นซึมเข้าผิวได้ดีขึ้นได้
มีการศึกษาวิจัยพบว่า 0.1% tretinoin cream สามารถลดฝ้าได้ในเวลา 24 สัปดาห์มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับ vehicle cream และมีผลข้างเคียงทำให้ผิวแดงและลอกได้
Azelaic acid
พบได้ในข้าวสาลี(wheat) ข้าวไรย์(rye)หรือข้าวบาร์เลย์(barley) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ปรับสมดุลเส้นใย keratin ที่ผิวหนังกำพร้ารวมทั้งต้านจุลชีพก่อสิว ออกฤทธิ์ยับยั้ง melanin โดยแย่งจับกับ Tyrosinase enzyme
มีงานศึกษาวิจัยผลของ 20% Azelaic acid cream เทียบกับ 4% Hydroquinone แล้วว่าได้ผลทำให้ฝ้าของอาสาสมัครจางลงดีมากเช่นกันแต่จะมีผลข้างเคียงคือแสบระคายเคืองผิวได้บ้าง แต่ก็น้อยกว่าผลข้างเคียงจากสาร Hydroquinone
Azelaic acid เป็นสาร Whitening ตัวเดียวที่อนุญาตให้ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์
กลุ่มที่เป็นเวชสำอาง
Arbutin
Alpha-arbutin เป็นสารสกัดจากใบไม้แห้งของ bearberry พืชที่อยู่ในแถบอเมริกาเหนือ เป็นอนุพันธ์ของสาร hydroquinone แต่มีฤทธิ์อ่อนโยนกว่ามาก ไม่ทำร้ายผิว ทำให้นิยมนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ Whitening อย่างแพร่หลาย
ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase และ DOPA ที่กระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินโดยไม่ส่งผลต่อการดำรงชีพของเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานินโดยความเข้มข้นของ Arbutin ที่สูงขึ้นยิ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสี melanin นอกจากนั้น Arbutin ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และต่อต้านเชื้อโรคได้อีกด้วย
มีงานวิจัยของไทยโดย ศ.คลินิก นพ.นิวัติ พลนิกร ปี 2010 ทำการศึกษาโดยไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบในอาสาสมัครเพศหญิง ที่เป็นฝ้าลึกและฝ้าผสม จำนวน 35 ราย รักษาด้วย Q-switched Nd:YAG ร่วมกับให้ทา 7% Alpha-arbutin วันละ 2 ครั้งและทากันแดดในตอนเช้า พบว่าร้อยละ 30 ของผู้เข้าร่วมวิจัยรอยฝ้าจางลงดีมาก ร้อยละ30 และจางลงดีร้อยละ36.7
ปี 2015 Morag และคณะ ศึกษาการทา 2.5% Beta-arbutin เทียบกับยาหลอก ปรากฎว่า ร้อยละ 75.9 ของผู้เข้าร่วมวิจัยมีฝ้าจางลง โดยเริ่มเห็นผลในระยะเวลา 4 สัปดาห์ และไม่พบผลข้างเคียงจากการทายา
Tranexamic acid
เป็นสารสังเคราะห์จากกรดอะมิโน lysine ออกฤทธิ์โดยแย่งจับกับเอ็นไซม์ Tyrosinase และอีกกลไกโดยการแย่งจับกับสาร plasminogen ยับยั้งการเกิดสาร plasmin ซึ่งจะเปลี่ยนไปเป็นกระบวนการสร้างเซลล์อักเสบต่าง ๆ ที่มีผลให้เกิดการกระตุ้นการสร้างเมลานินและการเกิดเส้นเลือดใหม่
มีงานศึกษาวิจัยพบว่าการทา Tranexamic acid เทียบกับ Hydroquinone พบว่าผู้เข้าร่วมวิจัยมีฝ้าที่จางลงไม่แตกต่างอย่างกันมีนัยยะสำคัญทางสถิติ และพบว่าในกลุ่มที่ทา Tranexamic acid มีความพึงพอใจในการใช้มากกกว่ากลุ่มที่ทา Hydroquinone เนื่องจากมีแสบระคายเคืองน้อยกว่า
Vitamin C
ยับยั้งเม็ดสีผ่านการทำปฏิกริยากับ copper และยับยั้ง Tyrosinase enzyme
ผลงานวิจัยของวิตามินซีเมื่อใช้ 5% Ascorbic acid เทียบกับ Hydroquinone พบว่าใบหน้าข้างที่ทาHydroquinone สามารถทำให้ฝ้าจางกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ แต่ Hydroquinone มีผลทำให้แสบและระคายเคืองกว่า มีการศึกษาว่า การใช้อนุพันธ์ของวิตามินซี คือ magnesium ascorbyl phosphate ใช้ในรูปแบบ aspasome เพื่อทำให้ดูดซึมเข้าผิวหนังได้ดีขึ้น พบว่า35% อาสาสมัครมีฝ้าที่จางลง
Vitamin C ในรูปแบบ L- Ascorbic acid เท่านั้นที่มีงานวิจัยในคนว่ามีคุณสมบัติพิเศษ คือ
1 . Antioxidant ช่วยต้านอนุมูลอิสระลดริ้วรอย ต้านผิวแก่จากแสงแดด (photoaging) ต้านผิวแก่จากมลภาวะ
2. ลดการสร้างเม็ดสี
3. กระตุ้นการสร้างคอลาเจน
แต่ L- Ascorbic acid เป็น active form ที่ไม่คงตัว Dr.WOW จะนำวิธีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ Vitamin C กันในบทความต่อไปอีกทีนะครับ
Kojic acid
เป็นสารที่ได้จากกระบวนการหมักข้าวมอลต์ ออกฤทธิ์โดยยับยั้ง Tyrosinase enzyme และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาเปรียบเทียบการทา 0.75% Kojic acid +2.5% vitamin C เทียบกับการทา 4% Hydroquinione พบว่ากลุ่มที่ทา Hydroquinone มีการจางลงของฝ้ามากกว่า แต่ก็มีการแดงของผิวหน้ามากกว่าด้วย และในการศึกษาผลการทาร่วมกันของ 1% Kojic acid ร่วมกับ 2% Hydroquinone พบว่ามีผลทำให้ฝ้าจางลงดีขึ้นกว่าทา Hydroquinone เดี่ยว ๆ
นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์เป็น antioxidant, antibacterial, antifngal, antiviral, anti-inflammation จึงนิยมนำมาผสมในเครื่องสำอางหลายชนิด ที่ช่วยบำรุงผิว ลดการอักเสบและลดการเกิดสิวได้
Licorice extract
สารสกัดจากรากชะเอม (Glycyrrhia glabra) มีสาร glabridin ออกฤทธิ์ยับยั้ง Tyrosinase enzyme และสาร liquiritin ทำให้เม็ดสี melanin กระจายตัวออกๆไม่จับเป็นกลุ่มก้อนทำให้สีผิวบริเวฌรอยโรคจางลง
มีการศึกษาวิจัยของ Zubair และคณะ พบว่า 4% liquiritin ส่งผลให้ฝ้าจางลงมากกว่า 4% Hydroquinone
Soybean extract
สารสกัดจากถั่วเหลือง หรือ Glycine max ออกฤทธิ์ยับยั้งเม็ดสี melanin โดยยับยั้ง PAR-2 ส่งผลรบกวนการขนส่งของถุงเก็บเม็ดสี (melanosome) จากเซลล์สร้างเม็ดสี (melaonocyte) ไปเซลล์ชั้นบนและยับยั้งกระบวนการ DOPA oxidase ทำให้เม็ดสี melanin ลดลง มีการศึกษาในสัตว์ทดลองเรื่องการทาถั่วเหลืองในรูปแบบทาบริเวณผิวหนังช่วยลดการสะสมของเม็ดสีได้ และมีการศึกษาเอาสารสกัดจากถั่วเหลืองมาใช้ในมนุษย์ เช่น รักษาภาวะความเสื่อมจากแสงแดด (photoaging) กระแดด (solar lentigo) รอยคล้ำที่ใบหน้า (facial hyperpigmentation)
Niacinamide
เป็นสารออกฤทธิ์ของวิตามินบี 3 พบได้ในยีสและรากผักออกฤทธิ์ลดเม็ดสี โดยยับยั้ง PAR-2 ส่งผลรบกวนการขนส่งของถุงเก็บเม็ดสี (melanosome) จากเซลล์สร้างเม็ดสี (melaonocyte) ไปเซลล์ชั้นบน
มีการศึกษาในคนที่เป็นฝ้าโดย Navarrete -Solis และคณะ ในปี 2011 อาสาสมัคร 27คน ทา 4% Niacinamide ครึ่งใบหน้าเทียบกับ 4% Hydroquinone ในใบหน้าอีกครึ่งหนึ่งพบว่า มีการลดลงของฝ้าไม่ต่างกันของสารทั้งสองชนิด แต่ Niacinamide พบผลข้างเคียงเช่น แสบ แดง ระคายเคืองน้อยกว่า Hydroquinone
Green tea(Camelia sinensis)
พบว่าสารในชาเขียวยับยั้ง Tyrosinase enzyme ได้ดีโดยเรียงลำดับความแรงในการออกฤทธิ์ได้ดังนี้ ECG> EGCG> GCG และสารกลุ่มชาเขียวยับยั้งการสร้าง melaninได้ดีกว่า arbutin
Isobutylamido thiazolyl resorcinol (ITR)หรือ Thiamidol
เป็นสารอนุพันธ์ของ resorcicol สาร ITR ลดเม็ดสีเมลานินโดยยับยั้ง Tyrosinase enzyme
ในปี2018 Mann และคณะ พบว่า ITR ที่ความเข้มข้น 1 umol/L มีฤทธิ์ลดการสร้างเม็ดสี melaninได้ร้อยละ40 ใน 2 สัปดาห์ มากกว่า Hydroquinoneที่ได้ร้อยละ 15 ใน 2 สัปดาห์ และมีการศึกษาอื่นพบว่าช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของฝ้าได้ดีกว่า Hydroquinone
สารต่างๆที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมีงานวิจัยรองรับว่าเป็นสาร Whitening ที่ช่วยในการรักษาฝ้าได้ดีหากมองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการรักษาฝ้ากระรอยหมองคล้ำจึงควรอ่านดูที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ด้วยว่ามีส่วนผสมของสารเหล่านี้หรือไม่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้มากขึ้นและไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาไปกับสารอื่นๆที่กล่าวอ้างว่ารักษาฝ้าได้แต่ยังไม่มีงานวิจัยรับรองชัดเจนนอกจากนั้นการทาครีมกันแดดเป็นประจำยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่เนื่องจากครีมกันแดดเป็นเกราะคุ้มกันผิวที่ดีที่สุดแม้ไม่ได้ทาสารกลุ่ม Whitening แต่ทาครีมกันแดดเป็นประจำก็สามารถช่วยแก้ปัญหาผิวหน้าได้หลายประการ ไม่เพียงแต่ช่วยเรื่อง ฝ้า กระ และรอยหมองคล้ำแล้วยังช่วยลดการเกิดสิวและริ้วรอยก่อนวัยได้อีกด้วย
บทความโดย นพ.ธีรทัศน์ สำเภาเงิน
แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพและแพทย์ประจำ WOW CLINIC
antioxidant arbutin Beautycare Dr.WOW Dr.WOWProducts drwow greentea hydroquinone kojic melasma Naturalbeauty skincare Skincareroutine tranexamic vitaminc whitening WOWCLINICPRODUCTSbyDr.WOW กระ กันแดด ขาว ครีม ครีมกันแดด ชนิดฝ้า ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่คิดค้นโดยแพทย์ความงามโดยเฉพาะ ผิวขาว ฝ้าตื้น ฝ้าลึก ฝ้าแดด รักษาฝ้า หมอว้าว